กว่า 110 ประเทศ ร่วมประชุมวิชาการงานบริการโลหิต
สนับสนุนการรักษาด้วยการให้โลหิตที่ปลอดภัยและเพียงพอทั่ว
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาธิวิทยาคลินิกไทย และคณะกรรมการ ISBT นานาชาติ จัดการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับนานาชาติ ครั้งที่ 30 (30th Regional Congress of the International Society of Blood Transfusion (ISBT) 2019) ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
นาวาโทหญิงแพทย์หญิงอุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ประธานจัดงานประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับนานาชาติ Regional Congress of the International Society of Blood Transfusion หรือ ISBT ครั้งที่ 30 เปิดเผยว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถือเป็นองค์กรด้านงานบริการโลหิตของประเทศไทย มีหน้าที่ในการจัดหาโลหิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยสูงสุด เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วประเทศ ปัจจุบันงานบริการโลหิตมีความก้าวหน้าพัฒนาไปในระดับนานาชาติ และสู่ระดับสากล จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้พัฒนาให้เหมาะสมกับการดำเนินงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศต่อไป
และในปีนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้รับเลือกจาก International Society of Blood Transfusion หรือ ISBT เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีสมาชิกกว่า 110 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การบริการโลหิต
- เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์การบริการโลหิต
- เพื่อส่งเสริมและรักษามาตรฐานระดับสูงด้านจริยธรรมการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในด้านเวชศาสตร์การบริการโลหิต
- เพื่อสนับสนุนการรักษาด้วยการให้โลหิต มีความปลอดภัยและเพียงพอทั่วโลก
นับตั้งแต่ ISBT ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ก็ได้พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตได้มีโอกาสร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยด้วยโลหิตทั่วโลก
ในทุกๆ 2 ปี ค.ศ.ที่เป็นเลขคู่ ISBT จะจัดประชุมใหญ่ระดับ International congress หนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุด คือการประชุมครั้งที่ 35 ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดาเมื่อปี พ.ศ.2561 และจะจัดการประชุมระดับภูมิภาคหรือ Regional congress สลับกันไป จำนวน 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.ที่เป็นเลขคี่ โดยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมานี้ มีการประชุมครั้งที่ 29 ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เป็นโอกาสอันดี ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก ISBT ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ 30 ในกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งที่สองที่ได้เป็นประเทศไทยเจ้าภาพ ซึ่งครั้งแรกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการงานบริการโลหิตภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 16 (XVI Regional Congress of the International Society of Blood Transfusion) เมื่อพุทธศักราช 2548
โดยกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จะเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านธนาคารเลือดกว่า 110 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1,000 คนทั่วโลก และมีวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการงานบริการโลหิตระดับนานาชาติ โดยการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทย พร้อมเปิดรับเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้พัฒนาให้เหมาะสมกับการดำเนินงานบริการโลหิต เพื่อให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศต่อไป
การประชุมจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2562 โดยมีโปรแกรมทางวิชาการที่น่าสนใจ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายประเทศทั่วโลกร่วมบรรยายให้ความรู้ อาทิ การทดสอบความปลอดภัยและความเข้ากันได้ของโลหิตผู้บริจาคกับโลหิตผู้ป่วย, ความก้าวหน้าในการศึกษาหมู่โลหิตที่หายากระดับพันธุกรรม, เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตและการดูแลผู้บริจาคโลหิตแบบยั่งยืน, การดูแลบริหารจัดการผู้บริจาคโลหิตที่สูงอายุ, การระบาดวิทยาและการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบภายในปี 2573 และกลยุทธ์การพึ่งพาตนเองโดยนำพลาสมามาผลิตยาอัลบูมิน, Factor VIII และ IVIG ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานของบุคลากรทางการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ในสาขาเวชศาสตร์บริการโลหิตรุ่นใหม่ แสดงผลงานวิชาการ งานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีผลงานที่โดดเด่นได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมจำนวนทั้งหมด 346 เรื่อง เป็นการนำเสนอโดยนักวิชาการชาวไทย 84 เรื่อง และภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการงานบริการโลหิตของประเทศไทย ควบคู่ไปกับนิทรรศการ 200 ปี International Society of Blood Transfusion (ISBT) ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การบริการโลหิตทั่วโลก และบูธนิทรรศการผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานบริการโลหิตต่างๆ จำนวน 60 บูธ
การจัดประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับนานาชาติในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และนักวิชาการด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตจากประเทศต่างๆ แต่เป็นโอกาสดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางการประสานเครือข่ายที่ทำงานด้านบริการโลหิต ที่จะประสานความร่วมมือสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความช่วยเหลือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริจาคโลหิต และผู้ป่วย ซึ่งสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ 50 ปีของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย คือ “ก้าวหน้าด้วยกัน”
***************************************