51 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เน้นคุณภาพ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร

         13 ตุลาคม 2563 แห่งการสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ครบรอบ  51 ปี ก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จของการยกระดับองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ด้วยมาตรฐานบริการโลหิตระดับสากล โดยคำนึงถึงผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง คือ ผู้บริจาคโลหิต ผู้ป่วย และโรงพยาบาลที่ต้องใช้โลหิต ภายใต้นโยบาย คุณภาพ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร        

         รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสันนิบาตกาชาด ครั้งที่ 17 ณ กรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน ที่มีมติให้สภากาชาดแต่ละประเทศจัดตั้งงานบริการโลหิตขึ้น โดยยึดถืออุดมคติว่า “ผู้บริจาคโลหิตต้องมาด้วยจิตศรัทธา ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนหรือหวังผลตอบแทนแต่อย่างใด”

         ประเทศไทยจึงได้จัดตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้น ในกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2495 เพื่อตอบสนองสภากาชาดสากล จากนั้นได้พัฒนาเป็น “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร “รังสิตานุสรณ์” เพื่อเป็นอาคารที่ทำการบริการโลหิต เมื่อปีพุทธศักราช 2496 และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2512 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ” เพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการบริการโลหิตหลังใหม่ ยังความปลาบปลื้มปีติยินดี และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งต่อองค์กร จึงถือวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

          ในโอกาสครบรอบ 51 ปี วันที่ 13 ตุลาคม 2563 แห่งการสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่ได้ดำเนินงานบริการโลหิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้นโยบายที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (customer center) ได้แก่ ผู้บริจาคโลหิต ผู้ป่วย และโรงพยาบาลที่ต้องการใช้โลหิตในการรักษาพยาบาล โดยยึดหลักการดำเนินงาน  3 ข้อ ดังนี้

  1. คุณภาพ (Quality) โลหิตที่ได้รับบริจาคต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ป่วย โดยมีการส่งเสริมพัฒนาด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบริการโลหิตและส่วนประกอบโลหิตอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล อาทิ งานห้องปฏิบัติการตรวจโลหิตที่ทันสมัย โรงงานผลิตถุงบรรจุโลหิต การผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิต และผลิตผลิตภัณฑ์โลหิตมากมาย
  2. รับผิดชอบ (Accountability) การให้บริการโลหิตที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทันเวลาต่อความต้องการของผู้รับบริการทั่วประเทศตลอดปี และการพัฒนาองค์กรให้เป็นที่พึ่ง เป็นแหล่งอ้างอิงด้านบริการโลหิตของประเทศ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ รวมทั้ง การค้นคว้าวิจัย เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ตลอดจน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์จัดหาผู้บริจาคโลหิตเชิงรุก โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆในการจัดหาโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีการจัดตั้งภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ในจังหวัดใหญ่ๆ จำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการโลหิตแบบครบวงจร และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
  3. เอื้ออาทร (Caring) การสร้างคุณธรรมภายในองค์กร คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เอื้ออาทร เพื่อให้บุคลากรดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณ และ ธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นวัฒนธรรมกาชาด เป็นรากฐานของ การทำงานอย่างมีความสุข มีเจตคติที่ดี และช่วยประสานการทำงานทั้งองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างสังคมในองค์กรให้น่าอยู่ นำมาซึ่งความสำเร็จในการทำงาน

  จึงขอเชิญชวนร่วมกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดังนี้

  • การบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง ทั่วประเทศ
  • กิจกรรมรณรงค์ผ่านสื่อ Social Media เชิญชวนผู้บริจาคโลหิต 51 ครั้งขึ้นไป โพสต์ภาพหลังบัตร ผู้บริจาคโลหิต พร้อมเขียนเรื่องราวประทับใจในการบริจาคโลหิต ผ่านทาง Facebook ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม 2563 สำหรับ 51 ท่านผู้โชคดี จะได้รับ “เสื้อยืด Safe Blood for All” เป็นที่ระลึก
  • เปลี่ยนกรอบภาพ Profile Facebook ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

          ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร. 0 2263 9600 ต่อ 1101, 1760, 1761

****************************************************

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คุณได้ลงนามถวายพระพรเรียบร้อยแล้ว.